วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

AEC Blueprint


การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ภายในปี 2558 ของประชาคมอาเซียนนั้น ถือเป็นพัฒนาการของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ก้าวข้ามสหภาพทางภาษีศุลกากร (Custom Union) มาเป็นตลาดร่วม (Common Market) ถือว่า มีลักษณะเฉพาะหรืออัตลักษณ์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ลัดขั้นตอนของการพัฒนาสู่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงมีลักษณะที่เป็นตลาดร่วม (Common Market) ทางเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์นักเมื่อเทียบกับอียู มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่า ระบบเศรษฐกิจโลกจะมีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางมายังเอเชียมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่ประเทศต่างๆ จะเดินหน้าเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะไร้พรมแดนจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในศตวรรษที่ 21 จะเกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามกลุ่ม คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิเอเชียตะวันออก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในทวีปอเมริกา การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรป ขณะที่มนุษยชาติต้องเผชิญปัญหาในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เป็นปัญหาร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติและภาวะโลกร้อน
กลุ่มประเทศอาเซียนได้จัดทำ แผนงานในเชิงบูรณาการในด้านเศรษฐกิจ ต่างๆ หรือ พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว จะนำไปสู่การใช้กฎระเบียบการค้าในประเทศสมาชิกทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน (Harmonization of Rules and Regulations) ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ ราคา อัตราภาษี รวมถึงกฎระเบียบในการซื้อขาย การขจัดมาตรการและข้อกีดกันต่างๆ รวมถึงการมีมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า เงื่อนไขการเคลื่อนย้ายบุคคลสัญชาติอาเซียน และประเภทบริการและการลงทุนที่เสรีมากขึ้น
2. การสร้างอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง (Highly Competitive Economic Region) ในเวทีการค้าโลก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม การเงินการธนาคาร การจัดระบบการค้าให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยพัฒนา SMEs และเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น โครงการริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration : IAI) ในการลดช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก
4. การเชื่อมโยงของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเน้นและปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค ให้มีทำทีร่วมกัน โดยการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ เพื่อให้เครือข่ายการผลิต/จำหน่ายภายในอาเซียนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนอื่นของโลก
อีกทั้งให้มีการเร่งรัดการดำเนินงานรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ทางด้านการค้า การบริการ การลงทุน แรงงาน และเงินทุน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ด้านสินค้า : มุ่งลดภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกเดิมให้เป็น 0% ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และมุ่งลดภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกใหม่ ปี 2558 (ค.ศ. 2015) รวมทั้ง ยกเลิกมาตรการ (Non-Tariff Barriers : NTBs) โดยเร็ว ตลอดจนปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin : ROO) และใช้พิกัดอัตราศุลกากรที่สอดคล้องกัน
2. ด้านบริการ : ยกเลิกข้อจำกัดในการประกอบการด้านการค้าบริการในอาเซียน ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020)
3. ด้านการลงทุน : เปิดให้มีการลงทุนเสรีในอาเซียนและให้ปฏิบัติต่อนักลงทุนอาเซียนเปรียบเสมือนนักลงทุนในประเทศ ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010)
4. ด้านแรงงาน : ให้แรงงานฝีมือ สามารถเคลื่อนย้ายภายในอาเซียนได้อย่างเสรี
5. ด้านเงินทุน : มุ่งให้มีการไหลเวียนของเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และเร่งรัดการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการให้เห็นผลชัดเจนขึ้น
ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิต ได้จัดสัมมนาทางวิชาการไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2555 พบว่า มีโอกาสมากมายสำหรับประเทศไทยพร้อมทั้งความเสี่ยงและความท้าทายจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เราอาจยังไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจที่ชัดเจนนัก ควรเร่งจัดทำขึ้น หากเราดำเนินยุทธศาสตร์ที่ดี เชื่อว่า เราจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างแน่นอน เพราะเรามีความได้เปรียบอย่างยิ่งในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
ภาคการค้าธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไป ไม่เป็นห่วงนัก แต่ที่นำห่วง คือ ภาคแรงงาน ภาคบริการโดยเฉพาะภาคการเงิน กล่าวถึง การเปิดเสรีการค้าบริการ อาเซียนได้เริ่มเปิดเสรีการค้าบริการภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดด้านการค้าบริการระหว่างกันภายในอาเซียนสำหรับการเปิดเสรีด้านบริการ แม้ว่าสิงคโปร์มีศักยภาพในด้านบริการสูงที่สุดในอาเซียน และน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปิดเสรีด้านบริการ เนื่องจากสิงคโปร์มีความพร้อมทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามไทยยังคงมีความได้เปรียบในบางสาขา เช่น การท่องเที่ยว ด้านการแพทย์และบริการด้านสุขภาพ ดังนั้น การเปิดเสรีด้านบริการจะส่งผลให้การแข่งขันในภาคบริการรุนแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาและเพิ่มบทบาทของภาคบริการให้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
การเปิดเสรีการค้าบริการภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น มีเป้าหมาย คือ ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในด้านต่างๆ ลง และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับบุคคล/นิติบุคคลสัญชาติอาเซียน ดังนี้
(1) สาขาบริการสำคัญ (Priority Integration Sectors: PIS) ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาโลจิสติกส์
(2) สาขาบริการอื่น (Non-Priority Services Sector) ครอบคลุมบริการทุกสาขา นอกเหนือจากสาขาบริการสำคัญ (priority services sectors) และการบริการด้านการเงิน ที่กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ทั้งนี้ สามารถยกเว้นสาขาที่อ่อนไหวได้
สำหรับสถานะล่าสุด อาเซียนได้ดำเนินการเจรจาลดข้อจำกัดด้านการค้าบริการระหว่างกันและจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดมาแล้วทั้งสิ้นรวม 7 ชุด โดยได้ลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการ ชุดที่ 7 ไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งในส่วนของไทยได้ผูกพันเปิดตลาดทั้งหมด 143 รายการ ครอบคลุมสาขาบริการหลัก อาทิเช่น บริการธุรกิจ (เช่น วิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และบัญชี เป็นต้น) คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร การก่อสร้าง การจัดจำหน่าย (เช่น บริการค้าส่งเครื่องกีฬา และบริการแฟรนไชส์ เป็นต้น) การศึกษาในทุกระดับ บริการด้านสุขภาพ บริการสิ่งแวดล้อม และบริการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไทยยังคงสงวนเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นไปตามกรอบกฎหมายไทย เช่น อนุญาตให้ต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีสิทธิถือหุ้นในนิติบุคคลที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ไม่เกินร้อยละ 49 ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดชุดที่ 8 ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 และยังคงต้องเจรจาเพื่อทยอยเปิดเสรีสาขาบริการอื่นๆ เพิ่มเติมจนบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีอย่างครบถ๎วน ในปี 2558 (ค.ศ. 2015)
(3) สาขาการบริการด้านการเงิน จะทยอยเปิดเสรีตามลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความ มั่นคงทางการเงิน เศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศที่มีความพร้อมสามารถเริ่มดำเนินการเปิดเสรีภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ในสาขาที่ระบุไว้ก่อน และประเทศสมาชิกที่เหลือสามารถเข้าร่วมในภายหลัง
ในส่วนของภาคบริการทางการเงินนั้นเห็นชัดว่า จะยังไม่ได้เปิดเสรีอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ. 2558 ขณะที่ความแข็งแกร่งและความพร้อมของธุรกิจอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารของไทยนั้นอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย เท่านั้น

อ้างอิง :
http://xn--42cle0dg2bid7g0axd4b6k.net/aec-blueprint/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น